นอนกรน อันตรายถึงชีวิตหรือไม่

การนอนกรน คือ อาการที่พบได้ทั่วไปซึ่งจากสถิติการนอนกรนของคนไทยพบว่า ผู้ชายนอนกรนมากถึงร้อยละ 20-30 ส่วนผู้หญิงนอนกรนร้อยละ 10-15 และผู้ที่มีอาการรุนแรงจากการกรนพบได้มากถึงร้อยละ 5 นอกจากนี้เด็กก็ยังสามารถเป็นโรคนอนกรนได้เช่นกัน หลายคนอาจกังวลใจว่าคนใกล้ตัวรวมถึงตัวคุณเองมีอาการนอนกรนเป็นประจำ ทำให้รบกวนคนรอบข้างและอาจกังวลใจว่ามันปกติหรือไม่? จะเป็นอันตรายถึงชีวิตไหม? มาหาคำตอบกัน

สาเหตุของการนอนกรน      

การนอนกรนที่พบได้บ่อยมีสาเหตุมาจากปัจจัย ดังนี้

  • ความเหนื่อยล้า หากร่างกายมีการทำกิจกรรมที่เหนื่อยตลอดทั้งวันก็ส่งผลให้กรนได้เช่นกัน
  • การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • การนอนหงายเป็นประจำ
  • มีไขมันช่องคอหนา
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
  • ผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน จะมีอาการนอนกรนเพิ่มขึ้น

ส่วนอาการนอนกรนที่พบได้ไม่ค่อยบ่อยมากนักมักมีสาเหตุมาจากปัจจัย ดังนี้

  • สันจมูกมีรูปร่างคดหรือเบี้ยว
  • รูปหน้าหรือคางผิดปกติ เช่น คางเล็ก หรือลิ้นไก่ใหญ่ โคนลิ้นอ้วน เป็นต้น
  • เป็นโรคภูมิแพ้ที่มีอาการบริเวณจมูกทำให้ช่องจมูกตีบตัน
  • การรับประทานยาชนิดที่ทำให้เกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจ

นอนกรน อันตรายถึงชีวิตหรือไม่?

การนอนกรน เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปผู้ที่มีอาการนี้อาจมองข้ามสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกถึงโรคได้ โดยทั่วไปแล้วสามารถแบ่งอาการนอนกรนได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. การนอนกรนแบบธรรมดา

เป็นอาการกรนที่ไม่อันตราย แต่ก็ก่อให้เกิดความรำคาญต่อคนรอบข้างโดยเฉพาะคู่นอนได้ ซึ่งอาการกรนประเภทนี้จะเกิดจากช่องทางเดินหายใจตีบแคบลงเพียงบางส่วน ไม่ได้ปิดสนิททั้งหมด อากาศจึงไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายได้จึงไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต

  1. การนอนกรนแบบอันตราย

การนอนกรนแบบอันตรายคือการที่ช่องทางเดินหายใจแคบลงจนปิดสนิททำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้จึงทำให้เกิด ‘ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA)’ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ที่เข้าข่ายนอนกรนแบบอันตรายนั้นมักมีอาการดังนี้

  • กรนสลับกับหยุดหายใจเป็นบางช่วง
  • กรนแล้วสะดุ้งเฮือกเพื่อหายใจ
  • ปวดปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน
  • ตอนกลางวันจะรู้สึกเพลียและง่วงมากผิดปกติ
  • มีอาการสะดุ้งตื่น ผวา และหายใจแรงเหมือนขาดอากาศหายใจ
  • นอนละเมอ ฝันร้าย หรือนอนหลับไม่สนิทและมีเหงื่อออกมากผิดปกติขณะหลับ
  • ตื่นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่นและปวดหัว
  • ความจำถดถอย ไม่มีสมาธิในการทำงาน
  • หลับในระหว่างขับรถ
  • มีความดันโลหิตสูงขึ้น

คุณสามารถสังเกตอาการของตัวเองได้โดยการบันทึกเสียงขณะนอนหลับหรือให้คนใกล้ตัวช่วยสังเกตว่ามีอาการดังกล่าวนั้นหรือไม่ หากมีควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจ Sleep test และทำการรักษาต่อไปเพราะหากละเลยหรือปล่อยไว้นาน ๆ จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • อาจเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือดหรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้
  • ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • อาจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้า
  • อาจทำให้เกิดภาวะ Stroke จนเป็นอัมพฤกษ์และอัมพาตได้

นอนกรนเกิดจากอะไร

วิธีรักษาอาการนอนกรน

หากคุณกังวลใจว่าการนอนกรนของคุณจะเป็นอันตรายหรือไม่ สามารถตรวจโดยการทำ Sleep test ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งที่บ้านและที่โรงพยาบาล แต่ตรวจเองที่บ้านราคาจะประหยัดกว่าและวัดผลได้น้อยกว่าการทำที่โรงพยาบาล หากคุณทำการทดสอบแล้วอยากรักษาอาการนอนกรนให้หายไปก็สามารถเลือกแนวทางในการักษาได้ 2 วิธี ดังนี้

  1. รักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์ มี 3 วิธี

    •   การใช้เครื่องอัดอากาศ CPAP เป็นการอัดอากาศผ่านทางจมูกสู่ช่องคอเพื่อทำให้ช่องทางเดินหายใจไม่ตีบแคบลง
    •   การใช้ที่ครอบฟัน เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยดึงขากรรไกรล่างให้ยืดออกมา ทำให้โคนลิ้นถูกยกขึ้นเพื่อช่วยขยายช่องทางเดินหายใจ
    •   การผ่าตัด สามารถผ่าตัดได้หลายวิธีเช่น การผ่าตัดต่อมทอลซิล การใช้คลื่นวิทยุจี้ การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน การผ่าตัดบริเวณโคนลิ้น การผ่าตัดเลื่อนกรามและขากรรไกร หรือการฝังไหมพิลล่า เป็นต้น
  1. การรักษาด้วยตัวเอง

เป็นการแก้ไขอาการกรนแบบธรรมดาที่ไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ซึ่งคุณสามารถแก้ไขได้ตัวเองตามวิธีการดังนี้

    •   หากคุณเป็นคนที่ชอบนอนหงายให้ลองเปลี่ยนท่านอนดู เพราะท่านี้เป็นท่าที่ทำให้เกิดอาการกรนได้ง่ายมากที่สุด ลองปรับเปลี่ยนเป็นนอนตะแคงข้างหรือนอนหมอนสูงเพื่อยกระดับศีรษะให้สูงขึ้น
    •   ใช้น้ำเกลือล้างจมูกเป็นประจำก่อนนอนเพื่อทำให้จมูกโล่ง
    •   งดการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน
    •   งดการดื่มชาหรือกาแฟก่อนนอน
    •   พยายามหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ
    •   ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะเมื่อน้ำหนักลดลงไขมันในช่องคอก็จะลดลงด้วยทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
    •   ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะทำให้ช่องทางเดินหายใจแข็งแรงขึ้นเมื่อหลับกล้ามเนื้อต่าง ๆ ในช่องคอก็จะไม่หย่อนลงมาขวางทางเดินระบบหายใจ นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างภูิมต้านทานที่แข็งแรงให้กับร่างกายได้อีกด้วย
    •   หมั่นทำความสะอาดเครื่องนอนอย่างสม่ำเสมอ เพราะสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคอาจทำให้เกิดหอบหืดหรือภูมิแพ้ได้ ทำให้ช่องทางเดินหายใจตีบแคบลง
    •   เพิ่มความชื้นในห้องนอนโดยการนำแก้วใส่น้ำมาวางไว้ข้างเตียงนอนหรือใช้เครื่องเพิ่มความชื้น

ปัญหาการนอนกรนคุณอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไปจึงมักถูกมองข้าม แต่จริง ๆ แล้วนอกจากจะเป็นการสร้างความรำคาญใจให้กับคู่นอนของคุณและอาจจะเป็นปัญหาต่อความสัมพันธ์ได้แล้วนั้น ยังก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้หากคุณมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ดังนั้นเมื่อคุณมีลักษณะอาการตามการกรนที่เป็นอันตราย ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาแนวทางในการรักษาร่วมกันต่อไป

อ้างอิง

Similar Posts